เปิดกำหนดการ ลงทะเบียน บัตรคนจนรอบใหม่ปี 68

คลังเล็งทบทวนผู้ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เล็งเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ เดือน มี.ค. 2568 ชี้เป็นตามแผนที่ต้องทบทวนคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการทุก ๆ 2 ปี เบื้องต้นคาดเกณฑ์-สิทธิประโยชน์ยังเป็นตามเดิม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย ว่า ช่วงต้นปี 2568 หรือราวเดือน มี.ค. กระทรวงการคลังวางแผนไว้ว่า จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน รอบใหม่ เนื่องจากขณะนี้กำลังจะครบ 2 ปี หลังจากรอบล่าสุดที่เปิดลงทะเบียน เมื่อปลายปี 2565 (5 ก.ย.-31 ต.ค.)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการใหม่ “มีการวางไว้ว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีการทบทวนผู้มีสิทธิกันใหม่ทุก ๆ 2 ปี เพราะบางคนอาจจะมีคุณสมบัติที่หลุดจากเกณฑ์ไปแล้ว หรือบางคนที่ไม่ได้สิทธิ คุณสมบัติอาจจะผ่านในรอบนี้ ซึ่งรอบที่แล้วเดิมมีผู้ลงทะเบียนกว่า 14.9 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 13.5 ล้านคน เพราะส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นคาดว่าจะยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมคือ ลงทะเบียนรายบุคคล และตรวจสอบคุณสมบัติเป็นรายบุคคลและครอบครัว โดยต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีรายได้คนละไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี หรือภายในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี รวมถึงทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ต่าง ๆ ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน

หรือในระดับครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน เกินจากเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ไม่มีบัตรเครดิต ไม่มีวงเงินกู้บ้านตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป วงเงินกู้ซื้อรถตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป และต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ ข้าราชการการเมือง รวมถึง สส. และ สว. แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนของการจ่ายสวัสดิการ คงต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลว่าจะมีเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่

แต่เบื้องต้นก็จะเป็นไปตามเดิมคือ วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน, มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ซึ่งใช้งบประมาณราว 4,800 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 50,000 ล้านบาทต่อปี “สวัสดิการที่จ่ายหลัก ๆ ก็น่าจะเหมือนเดิม แต่ก็ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลว่าจะมีอะไรเพิ่ม เหมือนอย่างล่าสุดก็มีการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านช่องทางนี้” แหล่งข่าวกล่าว

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มีแนวคิดศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax (NIT) นั้น เรื่องนี้จะได้เห็นแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการศึกษาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ขณะเดียวกันปัจจุบันการรวมฐานข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น “ในปัจจุบัน 2 ส่วนจะแยกกัน เรื่องเก็บรายได้ เรื่องภาษี จะอยู่กับกรมสรรพากร ส่วนเรื่องสวัสดิการจะผ่านกรมบัญชีกลางบ้าง อาทิ

คนพิการ ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ หรือผ่านกองทุนประชารัฐของกระทรวงการคลัง หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบ้าง โดยในต่างประเทศ อย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย สหรัฐ หรืออื่น ๆ หลายประเทศก็ใช้ NIT ที่เป็น 2 ระบบรวมกัน คือใครมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็เสียภาษี แต่ใครไม่ถึงเกณฑ์ก็จะได้รับเงินคืนไป” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า เมื่อนำระบบ NIT มาใช้ ก็ต้องยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการจ่ายสวัสดิการแบบอื่น ๆ แล้วมาจ่ายผ่านระบบ NIT แทน ทั้งนี้ คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปีก็น่าจะได้เห็น ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เห็นแน่ภายในรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่เกิน 2-3 ปี

ขอบคุณข้อมูล prachachat