ลูกหนี้กยศ. เช็กด่วน! เริ่มทยอยโอนเงินคืนแล้ว หลังคำนวณหนี้ใหม่

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เริ่มทยอยโอนเงินคืน หลังคำนวณยอดหนี้ใหม่ ลูกหนี้กยศ. ตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้แล้ว (วันนี้ 5 พ.ย.67) กรณีกยศ. มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่ คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ส่งผลผู้กู้ 2.8 ล้านรายมียอดหนี้ลดลง อีก 177,936 ราย จะได้รับเงินคืน รวมเป็นเงินที่ กยศ. ต้องจ่ายคืนกว่า 2,100 ล้านบาท

โดยกยศ. ได้เปิดให้ ลูกหนี้ลงทะเบียนรับเงินคืนมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดย กยศ. จะโอนเงินคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ผูกบัญชีธนาคารด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเท่านั้น เริ่มทยอยโอนเงินคืนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป

กยศ. ยังแนะนำให้ผู้กู้ยืม ยื่นปรับโครงสร้างหนี้ และทำสัญญาใหม่กับ กยศ. ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ค้ำประกัน ให้พ้นจากความรับผิด แม้กฎหมายใหม่จะไม่เอาผิดผู้ค้ำประกันแล้วก็ตาม แต่ยังมีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันอยู่ ดังนั้นผู้ค้ำประกันต้องผลักดันให้ผู้กู้เงิน กยศ.เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อปลดภาระค้ำประกันด้วย

ตรวจสอบยอดหนี้ใหม่

วิธีตรวจสอบยอดหนี้ใหม่

1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

2.เลือกเมนู “ตรวจสอบคำนวณยอดหนี้ใหม่”

3.กรอกข้อมูลตามบัตรประชาชน

4.กดยืนยันการลงทะเบียน

ลงทะเบียนขอรับเงินคืน

วิธีลงทะเบียนขอรับเงินคืน

1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

2.เลือกเมนู “ลงทะเบียนขอรับเงินคืน กรณีคำนวณหนี้ใหม่”

3.กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน

4.กดยืนยันการลงทะเบียน

ทั้งนี้ การคำนวณยอดหนี้ใหม่ข้างต้นเป็นการคำนวณหนี้โดยไม่ใช้ระบบ “กยศ. Connect” ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยได้นำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี

หากผู้กู้ยืมประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯจะใช้ยอดหนี้ที่ได้คำนวณใหม่นี้ในการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันให้พ้นจากความรับผิด และเมื่อระบบ กยศ.Connect ปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้วยอดหนี้ทั้งหมดจะถูกปรับโดยอัตโนมัติและจะแสดงในแอปพลิเคชัน กยศ.Connect ต่อไป

ลงทะเบียนนัดหมายปรับโครงสร้างหนี้

1.เข้าเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

2.เลือกเมนู “ปรับโครงสร้างหนี้”

3.กดลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้

4.กรอกเลขบัตรประชาชน

5.กดยืนยันการลงทะเบียน

จากนั้นสามารถตรวจสอบการนัดหมายได้ที่แถบเมนู “ตรวจสอบการนัดหมาย”

เอกสารที่ต้องเตรียมในวันทำสัญญา

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืมเงิน จำนวน 1 ฉบับ (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)

– สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)

กลุ่มเป้าหมาย

-กลุ่มก่อนฟ้องคดี

-กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี

-กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา

-กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว

-กลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด

เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้

1.ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน

2.ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี

3.ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์

4.การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้

– กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด

– ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว

– สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ

– อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี

– ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%

– เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที

– ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับคืนมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา